อานิสงส์การทำบุญถวายบาตร

Last updated: 3 ก.พ. 2564  |  16711 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อานิสงส์การทำบุญถวายบาตร

ความเป็นมาและเรื่องราวของบาตร

 


ในสมัยพุทธกาลกล่าวไว้ใน ปฐมสมโพธิ และพระวินัยปิฏกมหาวรรคว่า บาตรใบแรกของพระพุทธเจ้าคือ บาตรที่ฆฏิกาพรหม นำมาถวายคราวเสด็จออกทรงผนวช ณ. ฝั่งแม่น้ำอโนมา บาตรใบนั้นหายไปตอนรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ท้าวจตุมหาราช เทพผู้อภิบาลรักษาโลกประจำอยู่ทิศทั้งสี่ ทรงหยั่งทราบในพระอัธยาศัยจึงนำบาตรศิลามีพรรณรังสีเขียวมาถวายองค์ละ 1ใบ รวมเป็น 4ใบ พระพุทธองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่ แล้วอธิฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน พระพุทธประวัติตอนนี้จึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางประสานบาตร และ ธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บ ประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น

 

                ในพระวินัยปิฏกจุลลวิคค์ยังได้กล่าวถึงบาตรที่อนุญาตไว้มี 2 ชนิด คือ “ บาตรดิน “  และ ”  บาตรเหล็ก “ มีขนาด 7-11 นิ้ว และควรไม่เกิน 11 นิ้ว ประกอบด้วยโลหะ 8 ชิ้น มีโครงบาตร 1 ชิ้น ฝาข้าง 2 ชิ้น หน้าวัว 4 ชิ้น และ ขอบาตร 1 ชิ้น และ พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้โลหะเงิน ทอง ทองเหลือง หรือสิ่งมีค่าในการสร้างบาตร เพราะมีมูลค่าสูงเกินไปอาจจะเป็นอันตรายให้หมู่โจรมาจี้ปล้นได้ และ ไม่เหมาะกับพระสงฆ์ที่เป็นผู้มักน้อย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ สำหรับปัจจุบันนิมยมใช้ “ บาตรสแตนเลส “ เพราะดูแลรักษาทำความสะอาดง่าย คงทน น้ำหนักเบา และราคาไม่แพง

 

อานิสงส์การซื้อบาตรและสิ่งของต่างๆถวายพระสงฆ์


 

เรื่องการถวายทานต่างๆมีปรากฏในคัมภีร์อปทาน ตอน ปิลันทวัจฉเถราปทาน  เป็นเรื่องของพระปิลินทวัจฉะ ซึ่งท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระปิลินทวัจฉะว่า เป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในทางเป็นที่รักแห่งเทวดา

 

ในอดีตชาติของพระปิลันทวัจฉะ ครั้งนั้นได้มีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งอุบัติตรัสรู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในโลกมีนามว่า “ พระปทุมมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า “ พระปิลินทวัจฉะเกิดเป็นผู้มีทรัพย์ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อานิสงส์แห่งการถวายทานด้วยสิ่งของต่างๆย่อมให้ผลที่แตกต่างกันไป ตามเรื่องราวของคัมภีร์ได้กล่าวถึงอานิสงส์จากการให้ทานต่างๆ 46 ประการของพระปิลินทวัจฉะ แต่จะขอกล่าวเพียงอานิสงส์การถวายบาตรพระดังนี้


การทำบุญด้วยการถวายเชิงรองก้นบาตร



                ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายเชิงรองก้นบาตร จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องของการมีคนอุปถัมภ์เกื้อหนุน ไม่ว่าจะเดินทางไปที่แห่งใดก็จะมีคนคอยแนะนำ ยามใดที่พลาดพลั้งก็ไม่มีวันที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และ อานิสงส์จะส่งผลให้ผู้ทำบุญมีจิตใจสงบ จะทำสิ่งใดก็คิดออกและเกิดความผิดพลาดได้น้อย


อานิสงส์ของการถวายบาตร

 

 

ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายบาตรแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์อันแรงกล้า ความเป็นอยู่จะมั่งคั่ง มีชีวิตสมบูรณ์พูนสุข ปราถนาสิ่งใดก็จะได้โดยไม่ต้องลงแรงมาก ยามที่พบกับอุปสรรค ก็จะพบกับทางแก้ หรือมีที่พึ่งเข้ามาเสมอ อันตรายไม่กร้ำกราย คิดทำสิ่งใดมีความหนักแน่น และมีความพยายามมากทำให้การนั้นๆ ส่งผลสำเหร็จด้วยดี


การเลือกซื้อบาตรถวายพระสงฆ์

 

บาตรเหล็ก หรือ บาตรสแตนเลส


เหล็กหรือ สแตนเลส ก็ได้ เพราะสแตนเลสก็ถือว่าเป็นเหล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามพระวินัย แต่ข้อดีของบาตรสแตนเลสคือ การไม่เป็นสนิมและดูแลรักษาง่ายจึงเป็นที่นิยมใช้ในหมู่พระภิกษุ แต่ถ้าเป็นการถวายสังฆทานหรือ บวชระยะสั้น มักนิยมใช้บาตรเหล็กแทนเพราะราคาถูกกว่าแต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจจะเป็นสนิมได้หากดูแลรักษาไม่ดี

 

บาตรปั้ม หรือ บาตรทำมือ


บาตรปั้มจะบางและจะมีน้ำหนักเบากว่า บาตรทำมือ อีกทั้งมีราคาถูกกว่ามากเช่นกัน ส่วนบาตรทำมือนั้นถือว่าเป็นงานฝีมือชนิดหนึ่ง บาตรแต่หละใบใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 อาทิตย์ในการสร้างจึงมีราคาที่สูงกว่ามาก  บาตรทำมือนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพระสายธรรมยุตที่เคร่งครัดเป็นพิเศษนิยมใช้งานเป็นหลัก แต่สำหรับพระภิกษุส่วนใหญ่ล้วนขึ้นอยู่กับประประชาชนทั่วไปที่จะซื้อไปถวายนั่นเอง

รูปทรงของบาตรเป็นแบบไหนดี

 

รูปทรงของบาตรในปัจจุบันประกอบไปด้วย ทรงไทยเดิม ทรงตะโก ทรงมะนาว ทรงลูกจันทร์ และทรงหัวเสือ ที่นิยมจะเป็น  ทรงมะนาว และ ทรงหัวเสือ แต่ถ้าเป็นทางอีสานจะนิยมใช้ทรงลูกจันทร์กันมาก


บาตรบ่ม หรือ ไม่บ่ม


การบ่มบาตร คือ วิธีการหนึ่งที่ทำให้บาตรเหล็กไม่เป็นสนิม ในสมัยโบราณจะใช้การเผาไฟเพราะถ้าไม่บ่มบาตร บาตรจะเป็นสนิม ส่วนบาตรสแตนเลสไม่จำเป็นต้องบ่มเพราะไม่เป็นสนิมอยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างที่นำบาตรสแตนเลสไปบ่มเพื่อให้ได้สีที่ตามที่ต้องการ

 

สีของบาตร

 

สีของบาตรพระนั้นส่วนใหญ่จะนิยมเป็นสีดำ แต่ว่าการทำบาตรพระแต่โบราณนั้นในการทำสีจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ “ สุมเขียว “ และ “ รมดำ ซึ่งสุมเขียว คือการนำเศษไม้สักมาเผาให้เกิดความร้อน แล้วจึงนำบาตรไปเผาในฝืนไม้สัก บาตรที่ได้จะเป็นสีเขียวปีกแมลงทับ ส่วนรมดำ คือการนำบาตรไปเผาจนดำ รอให้เย็นจากนั้นจึงใช้น้ำยาที่ทำจากส่วนผสมของใบขี้เหล็ก แอลกอฮอล์ และน้ำมันชะแล็ก มาทาให้ทั่วด้านนอกและด้านในบาตรตากให้แห้งแล้วนำมารมควันอีกครั้ง ถ้าจะให้ดำสนิทให้ทาน้ำยาหลายๆครั้ง นอกจากนั้นในปัจจุบันยังมีการทำให้เกิดลวดลาย ด้วยการใช้ค้อนค่อยๆตีให้ขึ้นลาย เรียกว่า “ บาตรตีเม็ด “

 

ขนาดของบาตร

 

ขนาดของบาตรนั้นจะมีตั้งแต่ 7-11 นิ้ว โดยทั่วไปแล้ว พระภิกษุจะใช้บาตร 8-9นิ้วเป็นหลัก


ฝาบาตร

 

เป็นไม้ หรือ โลหะ ก็ได้ พระที่ฉันอาหารในบาตร อาจจะใช้ฝาบาตรวางพวกขนมด้วย

 

ขาบาตร

 

ในปัจจุบันขาบาตรมีด้วยกันหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โลหะ ไม้ หรือว่า หวาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมใช้ขาหวายเป็นหลัก


ตลบบาตร

 

ที่นิยมจะมีทั้งแบบถักไนล่อน และ ผ้าโทเร ที่นิยมใช้กันมากคือสี แก่นบวร และ ราชนิยม


 

Powered by MakeWebEasy.com